ระเบียบทุนการศึกษาพระราชทาน “นวฤกษ์”

ทุนนวฤกษ์

มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับความอนุเคราะห์จากศิลปินผู้มีชื่อเสียงรับเป็นผู้แสดงละครประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เรื่อง “ราโชมอน” ซึ่งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ประพันธ์บทละครเป็นภาษาไทย รวมทั้งรับเป็นผู้อำนวยการแสดง กำกับการแสดงและร่วมแสดงละครดังกล่าวด้วย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิฯ และทางมูลนิธิฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรละครเรื่องนี้ ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน จำนวน ๕๑,๑๑๑ บาท (รวมตัวเลขแล้วได้ ๙) เป็นทุนประเดิม และพระราชทานนามทุนนี้ว่า ทุน “นวฤกษ์” โดยให้มูลนิธิฯ ใช้ดอกผลเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน ในการพระราชทานทุนนี้ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่าเพื่อเป็นนิมิตอันดี ใคร่จะให้ผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลครั้งนี้ ร่วมบริจาคเงินเป็นตัวเลขที่รวมกันแล้วได้ ๙ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเป็นทุน “นวฤกษ์” สาขา …… ตามแต่ผู้บริจาคประสงค์ หลังจากนั้นได้มีผู้มีจิตศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนการศึกษา “นวฤกษ์” สาขาต่างๆจนถึงปัจจุบัน มีกองทุน “นวฤกษ์”รวม ๑๕๒ กองทุน

ทุนการศึกษาพระราชทานนี้ มีความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือนักเรียนที่เป็นคนดี และมีความประพฤติดี แต่ขาดทุนทรัพย์ให้ได้ศึกษาต่อภายในประเทศจนกว่าจำสำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาตามสมควรแก่อัตภาพ ปัจจุบันทุนการศึกษาพระราชทาน “นวฤกษ์” แบ่งออกเป็น ๓ ระดับคือ ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษาและระดับ ปวส. ๑-๒

นับตั้งแต่มูลนิธิฯ ได้รับพระราชทานทุนจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นทุนประเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ แล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน โดยเสด็จพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ และยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเพิ่มเติมอีก จำนวน ๒ ครั้ง ในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ และ ๒๕๑๕ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มูลนิธิฯ และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ขาดแคลนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนพระราชทาน “นวฤกษ์” อีกเป็นระยะๆ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้นำเงินที่ได้รับพระราชทานรวมกับเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลไว้เก็บดอกผล เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ขาดแคลน ภายใต้การดูแลและคัดเลือกของคณะกรรมการบริหารทุนการศึกษาพระราชทานทุน “นวฤกษ์” ซึ่งได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

๑. เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินจำนวน ๕๑,๑๑๑ บาท (รวมตัวเลขแล้วได้ ๙) เป็นทุนประเดิมและพระราชทานนามทุนนี้ว่า ทุน“นวฤกษ์” โดยให้มูลนิธิฯ เก็บเฉพาะดอกผลใช้เป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีพระราชประสงค์ให้ผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลตั้งเป็นกองทุน “นวฤกษ์”  สาขา ………ได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมา 
 
๒. วัตถุประสงค์  เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีความประพฤติดี  ขยัน  อดทน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อ สายอาชีพ ระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรีตามสมควรแก่ศักยภาพของผู้เรียนโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ
 
๓. การบริจาค  ผู้บริจาคสามารถให้ทุนการศึกษาโดยตั้งเป็นกองทุนเพื่อใช้ดอกผล หรือบริจาคเป็นรายปี
 
๔. มูลค่าเงินทุน  ปรับเพิ่มตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ดังนี้
      ๔.๑ ระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรี จำแนกเป็น 
         ๔.๑.๑  ระดับ ปวช. และ ปวส.  ปีละ ๘,๐๐๐ บาท
         ๔.๑.๒  ระดับปริญญาตรี (คณะทั่วไป) ปีละ ๘,๐๐๐ บาท
         ๔.๑.๓  ระดับปริญญาตรี  (คณะวิศวกรรมศาสตร์) ปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท
         ๔.๑.๔  ระดับปริญญาตรี  (คณะแพทยศาสตร์) ปีละ ๑๐,๐๐๐  บาท 
    มูลค่าเงินทุนอาจมากกว่าที่มูลนิธิฯ กำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้บริจาคที่ให้ทุนเป็นรายปี
 
๕. จำนวนทุน ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารทุนการศึกษาพระราชทาน “นวฤกษ์” ที่จะพิจารณาจัดสรรทุนและคัดเลือกนักเรียนทุน ตามระดับและประเภทการศึกษา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดอกผลที่ได้รับจากเงินทุนในแต่ละปีด้วย  
 
๖. คณะกรรมการบริหารทุนการศึกษาพระราชทาน “นวฤกษ์” ประกอบด้วย  ผู้แทนของมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชินูปถัมป์  ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และบุคคลอื่นที่คณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ  เห็นสมควร
 
๗. คุณสมบัติของผู้สมัครรับทุน  มีดังต่อไปนี้
       ๗.๑  ระดับอาชีวศึกษา (ปวช.) 
          ๗.๑.๑  เป็นนักเรียน ซึ่งได้รับการคัดเลือกขั้นต้นจากสถานศึกษาของผู้สมัครขอรับทุน
          ๗.๑.๒  กำลังเรียนอยู่ในชั้น ปวช. ปีที่ ๑
          ๗.๑.๓  มีผลการเรียนในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า  ๒.๕๐
          ๗.๑.๔  มีฐานะยากจน  และสถานศึกษาเห็นว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือ
          ๗.๑.๕  มีความประพฤติเรียบร้อย และมีความขยันหมั่นเพียร
          ๗.๑.๖  สุขภาพไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
 
        ๗.๒  ระดับอาชีวศึกษา (ปวส.) 
           ๗.๒.๑  เป็นนักเรียน ซึ่งได้รับการคัดเลือกขั้นต้นจากสถานศึกษาของผู้สมัครขอรับทุน        
           ๗.๒.๒  กำลังเรียนอยู่ชั้น ปวช.ปีที่ ๓ มีผลการเรียนในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐
           ๗.๒.๓  มีฐานะยากจน  สถานศึกษาเห็นว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือ
           ๗.๒.๔  มีความประพฤติเรียบร้อย และมีความขยันหมั่นเพียร
           ๗.๒.๕  สุขภาพไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
 
        ๗.๓  ระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) 
           ๗.๓.๑  เป็นนักเรียน ซึ่งได้รับการคัดเลือกขั้นต้นจากสถานศึกษาของผู้สมัครขอรับทุน        
           ๗.๓.๒  กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มีผลการเรียนในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐
           ๗.๓.๓  มีฐานะยากจน  สถานศึกษาเห็นว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือ
           ๗.๓.๔  มีความประพฤติเรียบร้อย และมีความขยันหมั่นเพียร
           ๗.๓.๕  สุขภาพไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
 
๘.  การยื่นใบสมัคร
 ๘.๑  ผู้ที่ประสงค์จะขอรับทุน ต้องแจ้งความประสงค์ต่อ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการหรืออธิการ จากโรงเรียนหรือวิทยาลัยของตน และเมื่อครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการหรืออธิการ ของสถาบันพิจารณาคัดเลือกนักเรียนทุนแล้ว จะจัดส่งรายชื่อพร้อมใบสมัครให้มูลนิธิฯ  พิจารณาคัดเลือกต่อไป
 ๘.๒  ผู้ที่โรงเรียน หรือวิทยาลัยคัดเลือกให้สมัครขอรับทุน  ต้องปฏิบัติดังนี้
    ๘.๒.๑  ผู้สมัครต้องกรอก ใบสมัครขอรับทุน ด้วยลายมือ (ตัวบรรจง) ของตนเองหนึ่งฉบับ และเขียนประวัติย่อของตนตามความเป็นจริง 
    ๘.๒.๒ ผู้สมัครต้องให้ผู้ปกครองกรอกข้อความในหนังสือรับรองของผู้ปกครอง  
 ๘.๓  การส่งชื่อผู้ที่สมควรได้รับทุน สถานศึกษาต้องกรอกรายละเอียดใน แบบสำหรับสถานศึกษากรอกรายละเอียดของผู้สมัครขอรับทุน  จัดส่งไปพร้อมกับใบสมัครและเอกสารของผู้สมัครขอรับทุนตามข้อ ๗
 
๙.  การคัดเลือก  คณะกรรมการบริหารทุนการศึกษาพระราชทาน “นวฤกษ์”  จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้สมควรให้ได้รับทุนและนำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ  และ แจ้งผู้ให้รับการคัดเลือกได้ทราบต่อไป
 
๑๐.  การเพิกถอนสิทธิของผู้รับทุน
              ๑๐.๑  ตาย
              ๑๐.๒  ถูกให้ออกจากสถานศึกษา  
              ๑๐.๓  สละสิทธิ์ โดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครองหรือจากผู้บริหารสถานศึกษา
              ๑๐.๔  คณะกรรมการบริหารทุนการศึกษาเห็นสมควรงดให้ทุน
              ๑๐.๕  เมื่อมูลนิธิฯ  ไม่ประสงค์จะให้ทุนต่อไป
 
๑๑.  การบริหารทุน
              ๑๑.๑ มูลค่าของทุนตามข้อ ๔ อาจจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้ หากคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ พิจารณาเห็นสมควรเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
              ๑๑.๒  คณะกรรมการบริหารทุนการศึกษา “นวฤกษ์” ขอความร่วมมือจากสถานศึกษา  เมื่อนักเรียนได้รับทุนการศึกษาของมูลนิธิฯ แล้ว  ดังนี้
          – ระดับปวช. ปวส.  สถานศึกษาต้องรายงานผลการเรียนของผู้รับทุน ปีละ  ๒  ครั้ง  ภายหลังการสอบผ่านการศึกษาแต่ละภาคเรียน  
          – ระดับอุดมศึกษา  ผู้รับทุนต้องรายงานผลการเรียนต่อมูลนิธิฯ ทุกภาคเรียนอย่างเร็วที่สุด  หรือจะส่งผ่านให้ทางสถานศึกษาแจ้งมูลนิธิฯ ก็ได้
 
๑๒.  การเบิกจ่ายเงินทุน  มูลนิธิฯ  จะแบ่งจ่ายเงินทุนการศึกษาปีละ ๒ ครั้ง  ภาคเรียนที่ ๑  เดือน มิถุนายน   ภาคเรียนที่ ๒  เดือนพฤศจิกายน  ของทุกปี    ตามมูลค่าของทุนที่ผู้รับทุนได้รับ  โดยจัดส่งให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ผู้รับทุนศึกษาอยู่  โดยมีเงื่อนไขว่ามูลนิธิฯ  จะไม่จัดส่งเงินทุนการศึกษาภาคเรียนต่อไปจนกว่าจะได้รับผลการเรียนของผู้รับทุนในภาคเรียนที่ผ่านมา
 
  มูลนิธิฯ จะใช้ระเบียบทุนการศึกษานี้ตั้งแต่ปีการศึกษา  ๒๕๖๐ เป็นต้นไป